ปรากฏการณ์ปลาตายเกลื่อนส่งกลิ่นเหม็นที่หาดบางแสน ส่งผลกระทบ นักท่องเที่ยวหาย สะเทือนรายได้ขายอาหารทะเล

       ปรากฏการณ์ปลาตายเกลื่อนที่หาดบางแสน จ.ชลบุรี ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมาเกิดความตื่นตระหนก กลิ่นปลาตายส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วหาด ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเล อาหารขายได้น้อยลง โดยพบว่าคุณภาพน้ำทะเลเป็นปกติ ส่วนชาวประมงในพื้นที่ สันนิษฐานว่า ต้นเหตุมาจากเรืออวนลากใหญ่ในพื้นที่

       จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.) รายงานว่า ได้รับแจ้งจากเทศบาลเมืองแสนสุข เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2566 เวลาประมาณ 17.20 น. พบปลาทะเลเกยตื้นตายเป็นจำนวนมาก บริเวณชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี ซึ่งชนิดปลาที่ขึ้นเกยหาดเป็นปลาชนิดเดียวกันเกือบทั้งหมด มีขนาดตัวที่ใกล้เคียงกัน คาดการณ์ว่ามาจากเรือประมงที่มีขนาดใหญ่ปลาเหล่านี้อาจหลุดมาจากเครื่องมือทำการประมง โดยชนิดปลาที่พบ คือ ปลาตะเพียนน้ำเค็ม หรือปลาโคก หรือปลามักคา เป็นปลาน้ำเค็ม และน้ำกร่อย พบได้ตามธรรมชาติ และทางเทศบาลเมืองแสนสุข ได้ดำเนินการทำความสะอาดบริเวณชายหาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

       ส่วนข้อมูลคุณภาพน้ำเบื้องต้นจากสถานีตรวจวัดน้ำอัตโนมัติที่ศรีราชา สถานีที่อยู่ใกล้เคียงมากที่สุด ข้อมูลวันที่ 11 มี.ค. 2566 เวลา 17.00 น. อุณหภูมิ 29.32 องศา ความเค็ม ความอิ่มตัวออกซิเจนละลายในน้ำ มีผลว่าคุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นปกติกลุ่มประมงพื้นบ้านหมู่ 14 หาดวอนนภา จ.ชลบุรี ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าว ว่า เหตุการณ์ปลาตายเกลื่อนบนชายหาดบางแสน ส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และยอดขายอาหารทะเลในบริเวณพื้นที่ เบื้องต้นถ้าวิเคราะห์จากประสบการณ์ทำประมงพื้นบ้าน ไม่น่าจะเป็นเหตุมาจากน้ำเน่าเสีย เพราะถ้าน้ำเสีย จะมีจำนวนปลาที่ตายในพื้นที่เป็นวงกว้างมากกว่านี้ สำหรับปลาที่ตายเกลื่อนบนหาดบางแสน เป็นปลากลุ่มที่หากินอยู่ตามโขดหิน คาดว่าสาเหตุมาจากเรือประมงขนาดใหญ่ ที่เดินทางออกไปหาปลาในระยะทางที่ไกลจากฝั่ง แล้วมีเหตุทำให้ต้องทิ้งปลาพวกนี้ลงทะเล แต่โดยปกติปลากลุ่มนี้จะขายไม่ได้ราคา ส่วนใหญ่ชาวประมงเมื่อได้มา จะนำไปขายให้กับผู้ที่รับซื้อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์“ปลาที่เจอเกยตื้น ชาวประมงจะเรียกกันว่า ปลาโกยทิ้ง ซึ่งขายไม่ได้ราคา ส่วนใหญ่นำไปขายเป็นหัวอาหารสัตว์ ราคากิโลกรัมละไม่ถึง 10 บาท ชาวประมงในพื้นที่ส่วนใหญ่พอได้มาจะไม่ค่อยปล่อยทิ้งลงทะเล แต่นำไปขายต่อ ซึ่งกรณีนี้มีปลาที่ตายเกยตื้นบนหาดเป็นตัน น่าสงสัยว่าเรือประมงอาจมีอุบัติเหตุหรือไม่ เบื้องต้นในพื้นที่ไม่มีรายงานอุบัติเหตุเรือประมงล่ม” ปลาที่ชาวประมงได้แล้วขายไม่ได้ราคา เช่น ปลาหางโกย ส่วนใหญ่เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว จะนำปลาไปขายให้กับผู้ที่รับซื้อ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการบดไปทำเป็นอาหารเป็ดและอาหารไก่ ซึ่งมีฟาร์มจำนวนหลายแห่งที่รับซื้อ เพราะถือเป็นอาหารสัตว์ที่มีราคาถูก “ปลาที่ตายแล้วมาเกยตื้นที่หาดบางแสนไม่น่าจะมาจากภัยธรรมชาติ เพราะถ้าปลาน็อกน้ำ เพราะอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จะมีปลาตายเกยตื้นจำนวนหลากหลายชนิด ขณะเดียวกันปลาก็มีสภาพที่เน่าและส่งกลิ่นเหม็นอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นปลาที่เรือประมงเก็บไว้ จนเริ่มเน่า เลยนำปลามาทิ้งลงทะเล” เบื้องต้นชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาตรวจสอบ ดูแลเรือประมงขนาดใหญ่ ที่สร้างผลกระทบดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว และทำให้อาหารทะเลในพื้นที่ขายได้จำนวนลดลง ส่งผลกระทบไปถึงชาวประมงพื้นบ้าน และร้านอาหารทะเลในพื้นที่ชลบุรีทั้งหมด.

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *