ทุเรียนไทยคือเบอร์ 1 มั่นใจในคุณภาพ แต่หวั่นทุนจีนฮุบสวนเพื่อนบ้านราคาส่งออกถูกกว่า

     กรณีจีนปลูกทุเรียนเองจะออกสู่ตลาดกว่า 2 พันตันในกลางปีนี้ ชาวสวนทุเรียนจังหวัดจันทบุรีก็ไม่เกรงกลัว คุณภาพไทยเหนือชั้นกว่า แต่ระยะยาวจะต้องมีการปรับตัว ส่วนล้งผลไม้ ชี้ยอดส่งออกยังอยู่ในระดับดี ห่วงทุนจีนฮุบสวนทุเรียนของเพื่อนบ้านเช่น ลาว
     เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 หลังจากมีกระแสข่าวทางโลกโซเชียล ถึงการอวดโฉม ผลผลิตทุเรียน ที่มีการเพาะปลูกในประเทศจีน และกำลังจะส่งออกสู่ตลาดในประเทศกว่า 2,400 ตัน ในกลางปีนี้ ซึ่งข่าวที่ประกาศออกมาดังกล่าวนี้ในช่วงที่ทุเรียนภาคตะวันออก โดยเฉพาะจาก จ.จันทบุรี ที่ขณะนี้ทยอยออกสู่ตลาดไปแล้ว ในช่วงต้นฤดูกาล ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสอบถาม ถึงกระแสข่าวดังกล่าวนี้ จากเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และผู้ประกอบการล้ง บรรจุทุเรียนเพื่อส่งออกนอก ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ถึงความวิตกกังวลใจกับกระแสข่าวนี้มีมากน้อยเพียงใดบ้างหรือไม่นายมานพ อมรอรช เจ้าของสวนทุเรียนนำสุข ต.ซึ้ง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่ทำสวนทุเรียนมานานหลายสิบปี มากมายหลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์เศรษฐกิจ และสายพันธุ์โบราณ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า รู้สึกไม่มีความกังวลใจกับข่าวที่จีนปลูกทุเรียนแล้วผลผลิตจะออกสู่ตลาดกลางปีนี้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า การยืนระยะเวลาในการปลูกแล้ว จะให้ผลผลิตทุกปีนั้น ซึ่งถ้าหากเป็นไปได้ตามนั้น ก็จะมีผลกระทบกับชาวสวนอยู่บ้างเล็กน้อยในระยะยาวในวันเวลภายภาคหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปลูกแล้วให้ผลผลิตและคุณภาพออกมาได้ตรงตามความต้องการของตลาดได้ง่ายๆซึ่งต่างจากทุเรียนจันทบุรี ของเราหรือภาคตะวันออกของเราจะมีการดูแลรักษาคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มปลูก ที่ว่าประเทศยักษ์ใหญ่นำเข้าอย่างประเทศจีน ยกให้เรื่องคุณภาพอยู่เป็นอันดับแรก ซึ่งทุเรียนแถบประเทศเพื่อนบ้านเรามีปลูกกันแล้ว แต่เรื่องคุณภาพยังสู้ไม่ได้ เมื่อถามว่าจุดเด่นที่เป็นซิกเนเจอร์ ของทุเรียนจากจันทบุรี เจ้าของสวนทุเรียนนำสุข กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพเป็นหลักเลย โดยแต่ละปัจจัย ทั้ง ดินฟ้า อากาศ น้ำ ชาวสวนที่ปลูกต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ก็จะมีเทคนิคการดูแลรักษาในแต่ละขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน ส่งผลให้ได้ ผลผลิตที่มีรสชาติที่ดีกว่า เนื้อสัมผัส กลิ่นและรูปลักษณ์ ตรงตามสายพันธุ์เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศในส่วนของการปรับตัว หากกระแสการปลูกทุเรียนในจีนยังคงนิยมเป็นเวลาในอีก 3-4 ปี ข้างหน้านั้น ชาวสวนเองก็ต้องมีการปรับตัว ทั้งเรื่องของการ ลดต้นทุนในการผลิตของแต่ละปี แต่ต้องยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพที่ดีเช่นเคย ต้องมองถึงการแปรรูป แน่นอนว่า หากทุกประเทศหันมาปลูกทุเรียนเพื่อบริโภคเองและเพื่อส่งออก ผลผลิตในบ้านเราก็จะมากและล้นตลาด ห้องเย็นจึงเป็นทางเลือก ในการรอแปรรูปและส่งออก อีกทางออกหนึ่ง คือ หันมาปลูกทุเรียนเบญจพรรณ หรือทุเรียนที่โบราณหายาก หรือทุเรียนเศรษฐกิจสายพันธุ์มาเลเซีย ซึ่งตลาดยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากชาวสวนยังคงรักษาคุณภาพของทุเรียน และราคาไม่ดิ่งต่ำกว่าต้นทุน ก็ยังไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ เพียงแค่ต้องหาวิธีการเตรียมรับมือ หรือการปรับตัวไว้แต่เนิ่นๆ ขณะที่ ผู้ประกอบการล้ง ทุเรียนส่งออก ในพื้นที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี อย่างเช่น นายณัฐกฤษฏ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตร ไทย-จีน ในฐานะผู้ประกอบการล้ง กล่าวว่า ไม่รู้สึกวิตกกังวลกับข่าวของทางประเทศจีน เพราะในแต่ละปีก็จะได้ยินว่าประเทศนั้น ประเทศนี้หันมาปลูกทุเรียนกันเป็นจำนวนมากขึ้น เนื่องจากรายได้จากการส่งออกทุเรียนเป็นมูลค่าที่มีมหาศาล ซึ่งประเทศไทยส่งออกทุเรียนปีละกว่า 1 ล้านตัน กับข่าวของทางประเทศจีน ทำทุเรียนออกสู่ตลาด 2,400 ตัน ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการส่งออกของบ้านเราผู้ประกอบการล้ง ทุเรียนส่งออก กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการล้งทุเรียน ควรจะกังวลยิ่งกว่าการที่จีนปลูกทุเรียนในประเทศจีนเอง คือ ปัจจุบันจีนเข้าไปลงทุนปลูกทุเรียนในต่างประเทศ เช่น ลาว /เวียดนาม มีจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะลาว ขณะนี้พื้นที่เพาะปลูกน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่แล้ว ซึ่งเหล่านี้ ก็จะมีปัจจัยต้นทุนต่างๆ รวมทั้งการขนส่ง มีราคาที่ถูกกว่าบ้านเรา นายณัฐกฤษฏ์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าทางจีนจะปลูกทุเรียนเองได้ แต่ปีนี้ กลับพบว่า นายทุน ชาวจีน เดินทางมาทำล้งทุเรียนกันจำนวนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นเครื่องหมายการันตีอย่างดี ในเรื่องคุณภาพของทุเรียนส่งออกของ จันทบุรี ที่ยังเป็นเบอร์ 1 เรื่องของคุณภาพผลผลิต ซึ่งหากเกษตรกรชาวสวนเจ้าของสวน รวมไปถึงมือตัด และล้งส่งออก ช่วยกันรักษาคุณภาพ ชื่อเสียงไว้เช่นนี้ไปได้ตลอด ราคาก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ได้รับความนิยมไปตลอด.

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *