เข้าตรวจสอบโรงงานนายทุนชาวจีนที่จ.ชัยภูมิ พบไม้ประดู่ท่อน แปรรูป ซุกซ่อนไว้เป็นจำนวนมาก รอหลักฐานเอกสารแสดงที่มาของไม้

     ชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.บูรณาการหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ลงพื้นที่ตรวจโรงงานแปรรูปไม้ใน อ.จัตุรัส เจ้าของเป็นคนจีน จ้างแรงงานชาวลาว พบไม้กว่า 1,000 ท่อน และไม้แปรรูปที่ไม่มีหลักฐานการซื้อขาย ส่วนใหญ่เป็นไม้ประดู่ที่ยอดนิยม
     วันที่ 18 เม.ย.66 พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. เปิดว่า ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การอำนวยการของ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ (ผอ.ศปก. พป.) และ พล.ท.ภัทราวุฒิ ชุณหะวัณ ผอ.ศปป.4 กอ.รมน. ได้สั่งการให้ พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หน.ชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. และหน่วยงานเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ นำทีมโดย นายสมชาย ฉิมแย้ม บูรณาการหน่วยงานและสนธิกำลัง ประกอบด้วย ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้, สจป.8 (นครราชสีมา), หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.1(นายางกลัด) นปพ.เทพสถิต และ ตำรวจ สภ.จัตุรัส ร่วมกันเข้าทำการตรวจค้นโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรแห่งหนึ่งในท้องที่ ต.หนองบัวบาน อ.จัตุรัส ซึ่งเป็นการขยายผลอย่างต่อเนื่อง จากการเข้าไปตรวจค้นโรงเลื่อย ในภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เพชรบูรณ์ โดยสายข่าวที่เชื่อถือได้ยืนยันว่าเป็นแหล่งที่รับซื้อไม้ประดู่แปรรูปในป่าที่ผิดกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางมาถึง พบว่าโรงงานมีรั้วคอนกรีตล้อมโดยรอบอย่างมิดชิด ปิดประตูเหล็กไว้ ล็อกประตูโดยใส่กุญแจประตูจากด้านในอย่างแน่นหนา คณะเจ้าหน้าที่จึงพากันเคาะประตูอยู่เป็นเวลานานกว่าจะเปิดออกให้ เมื่อเปิดประตูให้แล้ว พบกับชายชาวจีน จำนวนประมาณ 7-8 คน ออกมาทำการต้อนรับ สามารถพูดภาษาไทยได้ 2 คน ชื่อ อาเปา และอาชิ ให้การว่าเจ้าของโรงงานแห่งนี้เป็นคนจีน ชื่อ นายขวาง หนิงเซิน และพบคนงานคนไทยชื่อ นายประดิษฐ์ ให้การว่า โรงงานนี้มีคนงาน 10 กว่าคน มีตนเป็นคนไทยเพียงคนเดียว นอกจากนั้นเป็นชาวลาวทั้งหมด แต่ได้ขอลากลับบ้านในช่วงสงกรานต์ ยังไม่ได้กลับเข้ามาทำงาน ผลการตรวจค้น โรงงาน อินทรีทอง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 185 หมู่ 4 ต.หนองบัวบาน อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ได้ตรวจสอบการอนุญาต พบว่ามีใบอนุญาตรวม 4 ฉบับ หมดอายุในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 และอยู่ระหว่างการขอต่ออายุใบอนุญาตที่ ทสจ.ชัยภูมิ ทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่
     1. ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้
     2. ใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร เพื่อทำประดิษฐกรรม, ทำเครื่องเรือน, เครื่องใช้ในบ้านเรือน, วงกบ, ประตู, หน้าต่าง, โดยใช้ไม้แปรรูปจากต่างประเทศ ไม้สวนป่า และไม้ปลูกขึ้นเองทุกชนิดเป็นวัตถุดิบ
     3. ใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูป
     4. ใบอนุญาตการค้า หรือการมีไว้ในครอบครอง เพื่อการค้า ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม และในการตรวจค้นโรงงาน พบว่าไม้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดในโรงงานเป็นไม้ประดู่ ซึ่งมีทั้งไม้ท่อน และไม้แปรรูป ในส่วนของไม้ท่อน ส่วนใหญ่เป็นไม้ประดู่ พบมีไม้ประดู่ท่อนใหม่ยางยังสดอยู่เป็นจำนวนมาก ตรวจสอบจากเอกสารมีจำนวนมากถึง 1,074 ท่อน กองเรียงรายในบริเวณพื้นที่ของโรงงาน โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารการได้มาของไม้ ตรวจนับ และวัดขนาดของไม้อย่างละเอียด ว่ามีจำนวนเท่าไร ได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ อย่างไร คาดว่าต้องใช้เวลาตรวจสอบอีกประมาณ 3 วัน
ส่วนไม้แปรรูปภายในโรงงาน พบไม้ประดู่ ที่มีล่องรอยการแปรรูปด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ เป็นจำนวนมาก ตรงกับที่สายข่าวได้รายงาน ว่ามีการนำไม้แปรรูป (ตีปอนด์) โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ลักลอบแปรรูปในป่าอนุรักษ์ฯ ในป่าสงวนฯ และในป่า ส.ป.ก. (จ.ชัยภูมิ มีไม้ประดู่ ขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก) นำมาขายจำหน่ายที่โรงงานแห่งนี้ และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบภายในโรงงานไม่พบการแปรรูปด้วยเลื่อยโซ่ยนต์แต่อย่างใด สอดคล้องกับคำให้การของนายอาชิ ว่ารับซื้อไม้ตีปอนด์ ที่มีผู้นำมาขายหลายราย จึงร่วมกันตรวจอายัดไม้ประดู่ จำนวน 469 เหลี่ยม/แผ่น และให้เจ้าของโรงงานนำหลักฐานเอกสารแสดงที่มาของไม้มายื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 3 วัน หากไม่มี หรือมีแต่ไม่ถูกต้องสัมพันธ์กับขนาดของไม้ จะตรวจยึดดำเนินคดีต่อไป จากการตรวจสอบเอกสารการรับซื้อไม้ ปรากฏหลักฐานการรับซื้อไม้จาก จ.ชัยภูมิ และพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 1,074 ท่อน แต่ไม่พบเอกสารการรับซื้อไม้แปรรูปแต่อย่างใด

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *